วันเสาร์ที่ 22 มิถุนายน พ.ศ. 2556

การใช้ทิชชู




                                                                   การใช้ทิชชู




                                                   
กระดาษทิชชูเป็นของใช้ที่คนทั่วไปรู้สึกว่าขาดไม่ได้ในเกือบทุกกิจกรรมของชีวิตประจำวัน ตั้งแต่เช็ดหน้า เช็ดก้น สั่งขี้มูก ซับน้ำตา ฯลฯ กระทั่งจะเช็ดน้ำหวานที่หกลงพื้น ก็ยังอุตส่าห์ใช้ทิชชูเช็ด (ทำไมนะ?)

แต่ในขณะเดียวกัน ช่วงเวลาที่ทิชชูรับใช้เราช่างแสนสั้น อาจจะนับ 1 ไม่ถึง 3 เสียด้วยซ้ำ เหล่าทิชชูก็หมดหน้าที่และไปกองรวมกันอยู่ก้นถังขยะในฐานะขยะติดเชื้อ โดยที่เราไม่อยากจะเหลียวมองมันอีกเลยด้วยซ้ำ นับเป็นสินค้าที่มีอายุการใช้งานแสนสั้นเสียยิ่งกว่าถุงพลาสติกใส่กับข้าว

กระดาษทิชชูจัดเป็นวัสดุสิ้นเปลืองในภัตตาคาร โรงพยาบาล ห้างสรรพสินค้า โรงแรม ฯลฯ และน่าจะเป็นของฟุ่มเฟือยมากสำหรับคนในชนบท
สำหรับคนเมืองอย่างเรา อาจนับกระดาษทิชชูเป็นของจำเป็น หายากที่สาวๆ จะไม่พกทิชชู ห้องน้ำตามห้างเดี๋ยวนี้ก็แทบจะไม่มีอีกแล้ว ที่ไม่มีกระดาษทิชชูให้บริการ
ปี 2552 คนไทยเสียสตางค์ซื้อทิชชู (กระดาษชำระ + กระดาษเช็ดหน้า + กระดาษทิชชูอเนกประสงค์ +กระดาษเช็ดปาก) ไป 4,300 ล้านบาท และน่าจะซื้อเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ แต่ว่ากระดาษทิชชูเกือบทั้งหมดในบ้านเราผลิตจากเยื่อกระดาษบริสุทธิ์ นั่นหมายความว่ามันทำมาจากต้นไม้เป็นๆ จำนวนมหาศาลน่ะซี้

ไม่ใช่แต่การตัดต้นไม้ การผลิตสินค้าใดๆ ย่อมต้องใช้พลังงาน น้ำ สารเคมี แถมยังปล่อยของเสียสู่สิ่งแวดล้อมอีก น้อยคนนักจะรู้ว่าอุตสาหกรรมผลิตกระดาษทั้งหมดส่งผลกระทบรุนแรงต่อสิ่งแวดล้อม ก่อมลพิษทางน้ำ อากาศ ปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นอันดับ 3 ของภาคอุตสาหกรรม แถมยังใช้คลอรีนในการฟอกขาว ซึ่งมีไดออกซิน– สารก่อมะเร็งเป็นส่วนประกอบ

ยิ่งกระดาษที่นุ่มหนาเป็นพิเศษ ยิ่ง “ทำให้เกิดความเสียหายต่อสิ่งแวดล้อมมากกว่ารถใหญ่ที่ซดน้ำมัน ฟาสต์ฟู้ด และคฤหาสน์จัดสรร (McMansions) ในแง่การใช้สารเคมีในกระบวนการผลิตเยื่อและการตัดไม้ทำลายป่า” – โค้ดคำพูดจากนักข่าวสิ่งแวดล้อมของหนังสือพิมพ์ guardian.co.uk
นักข่าวฝรั่งบางคนถึงกับบอกว่า “ความนุ่มของกระดาษทิชชู =การทำลายสิ่งแวดล้อม” ...ก็ถูกของเขานะ
บริษัทผลิตกระดาษชำระไม่จำเป็นต้องตอกย้ำผู้บริโภคว่าเราจำเป็นต้องใช้มันอีกแล้ว แต่บอกเราว่าทิชชูที่เราใช้ “ต้องขาว นุ่ม พิมพ์ลาย” ยิ่งถ้าปลอดภัยไร้แบคทีเรียอย่างสิ้นเชิงได้ ยิ่งนับเป็นของดี ซึ่งเอาเข้าจริง ผู้บริโภคอย่างเราจะตรวจสอบเรื่องนี้ด้วยตัวเองได้อย่างไร หรือถ้ามีสารต้านเชื้อโรคผสมอยู่จริง สารนั้นจะไม่เป็นอันตรายต่อเราหรือ หรือก้นเราจะเข้าใจเรื่องขาวนุ่มพิมพ์ลายได้แค่ไหนกันแน่
คุณโรส ป้าขอรับรองว่ามีผู้หญิงหลายคนในโลกนี้ที่อยู่ได้โดยไม่ต้องใช้กระดาษชำระ และบางครั้งเมื่อเราอยู่ในสถานการณ์ “ปวดฉี่แต่ไม่มีทิชชู” เราก็เอาตัวรอดมาได้ใช่ไหม ลองถามเพื่อนสาวรอบตัวดู เราก็อาจพบว่ามีบางคนที่ทำอย่างนั้นเป็นปรกติ โดยไม่มีปัญหาเรื่องสุขอนามัยของจุดซ่อนเร้น

ถ้านั่นเป็นเรื่องสุดโต่งเกินไป เราช่วยกันลดการใช้กระดาษทิชชูก็ได้นี่นะ แทนที่จะสาวๆๆ จนพันเต็มมือ ก็สาวหนเดียวพอ จากที่ใช้ 4 ช่อง ก็เหลือ 3 ช่อง ก็ใช้ได้สบายๆ หรือจะให้ท้าทาย ก็ลองลดให้น้อยกว่านั้นดู

บางบ้าน สาวๆ อาจแขวนผ้าขนหนูผืนน้อยนุ่มนิ่มเอาไว้ใช้ส่วนตัว แทนกระดาษทิชชู วันหนึ่งใช้ได้หลายครั้ง แถมไม่ต้องทิ้ง แค่ซักแล้วตากแดด ก็สะอาดเพียงพอแล้ว
หรือถ้าต้องซื้อ ลองเดินหาดูทิชชูที่ทำมาจากเยื่อกระดาษเวียนใช้ใหม่ (secondary pulp) ในเมืองไทยมีน้อยมาก แต่ก็ไม่ใช่ว่าจะไม่มี
แค่สีไม่ขาวจั๊วะ แพ็กเกจไม่สวย แต่มันก็ใช้งานได้เหมือนทิชชูทั่วไปนะ
มีบางยี่ห้อที่ช่วยแจกแจงบนบรรจุภัณฑ์ว่า ถ้าหากใช้กระดาษที่ทำจากเยื่อเวียนใช้ใหม่ 1 ตัน แทนการใช้กระดาษที่ผลิตจากเยื่อบริสุทธิ์ เราจะ “อนุรักษ์ต้นไม้ได้ 17 ต้น | ประหยัดน้ำ 26,500 ลิตร| ประหยัดไฟฟ้า 4 ล้านวัตต์ | ลดการใช้น้ำมัน 378 ลิตร| ลดมลพิษทางอากาศ 27.5 กิโลกรัม| ลดพื้นที่การฝังกลบ 2.75 ลูกบาศก์เมตร| ลดการใช้สารเคมีและการฟอกสี 19 กิโลกรัม” อันเป็นตัวเลขจากUnited States Environmental Protection Agency
ลองแอบไปตามหาไหมว่าเป็นกระดาษทิชชูยี่ห้อไหนของเมืองไทย
นอกจากกระดาษชำระในห้องน้ำ เรายังลดการใช้ทิชชูในร้านอาหาร ร้านไอศกรีม และร้านขนมต่างๆ ได้ด้วยการงดรับและงดใช้ และหันมาพกผ้าเช็ดหน้าแทน
         
                                       ที่มา:http://www.greenworld.or.th/

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น